ท่องเที่ยวต่างประเทศ [25]
4 Seasons in Japan
เรียนรู้วัฒนธรรม ท่องเที่ยวตามฤดูกาล
เห็นชื่อเรื่อง หลาย ๆ คนอาจจะนึกถึงสีทาบ้านยี่ห้อนึงใช่ไหมล่าาา แต่เราไม่ได้จะมาพูดถึงเรื่องของสีทาบ้านนะคะ แต่เราจะมาพูดกันถึงเทศกาลในประเทศ ญี่ปุ่น (Japan) ที่จัดขึ้นในแต่ละฤดูกาลว่ามีเทศกาลไหนที่น่าสนใจบ้าง นอกจากเราจะได้ไปเที่ยวแล้ว เรายังได้ซึมซับวัฒนธรรมและได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นแบบใกล้ชิดอีกด้วย
อย่างที่เราทราบกันดีว่าประเทศญี่ปุ่น ประกอบไปด้วย 4 ฤดูกาล นั่นก็คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และ ฤดูหนาว โดยในแต่ละฤดูกาลจะมีความสวยงามและเทศกาลที่แตกต่างกันไป เราอาจจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “ไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงนี้แพงนะ เพราะดอกซากุระกำลังบานเลย” นั่นก็เป็นเพราะว่าช่วงที่มีเทศกาลนั้นผู้คนจะหลั่งไหลมาเพื่อออกไปท่องเที่ยวเพื่อชมความสวยงามและจัดกิจกรรมร่วมกันนั่นเอง
งานเทศกาลต่าง ๆ ถือเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้คนจากทุกหนแห่งได้มาพบปะกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในท้องถิ่นหรือชาวต่างชาติ (บางครั้งเวลาที่เราไปเที่ยวญี่ปุ่นอาจจะเคยเจอโมเมนต์ที่ว่า เหมือนเราอยู่เมืองไทย เพราะหันไปทางไหนก็เจอแต่คนไทยเต็มไปหมด 😆) ซึ่งเทศกาลต่าง ๆ ที่จัดขึ้นนั้นเป็นการเผยให้เห็นถึงความเป็นมาและวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น ซึ่งต้นกำเนิดของงานเทศกาลจะมีที่มาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ที่ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญและยึดถือกันมาอย่างยาวนาน เช่น งานฉลองปีใหม่ในฤดูหนาว การชมดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง เป็นต้น และยังเป็นการเพิ่มสีสัน ความสนุกสนาน และความมีชีวิตชีวาให้กับประชาชนอีกด้วย
เคยไหมตอนที่ดูหนังหรือการ์ตูนญี่ปุ่นแล้วมีความรู้สึกว่า
“อยากไปเที่ยวที่นั่นจัง”
“อยากกินขนมแบบนั้นอ่ะ ต้องไปซื้อที่ไหนเนี่ย”
ทุก ๆ คนน่าจะเคยมีความรู้สึกแบบนี้กันมาบ้างแน่นอน และสำหรับใครที่อยากเรียนรู้และสัมผัสประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นให้ลึกซึ้ง แนะนำว่าให้ไปเที่ยวในช่วงที่มีเทศกาลในแต่ละท้องที่ เพราะเราอาจจะมีโอกาสได้สัมผัสวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด
และเราก็ได้ทำการหาข้อมูลและรวบรวมเทศกาลต่าง ๆ ในแต่ละฤดูของประเทศญี่ปุ่นมาฝากกัน และนี่คือรายชื่อของเทศกาลต่าง ๆ ที่น่าสนใจ มีอะไรบ้างไปดูกันเลยยยย
มาเริ่มกันที่…
ฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคม – พฤษภาคม)
ฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูที่เต็มไปด้วยความสดใสและความมีชีวิตชีวา ถ้าพูดถึงฤดูนี้หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงดอกไม้สีชมพูที่บานสะพรั่งไปทั่วตามบริเวณต่าง ๆ นั่นคือ ดอกซากุระ นอกจากนั้นยังมี ดอกอะซะเลีย ซึ่งออกดอกบานสีแดงสดใส ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแทนของดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่น ที่ญี่ปุ่นฤดูใบไม้ผลิถือเป็นช่วงที่หลาย ๆ อย่างสิ้นสุดและเริ่มต้นใหม่อีกด้วย
เทศกาลในฤดูใบไม้ผลิ
- เดือนมีนาคม
- เทศกาลชมดอกซากุระ ผู้คนจำนวนมากมาที่สวนซึ่งมีต้นซากุระเพื่อสนุกสนานกับ โอฮานิมิ (O-hanami) หรือเทศกาลการชมดอกไม้บาน สำหรับสถานที่ที่เหมาะกับการไปชมดอกซากุระ จิ้มที่ลิงค์นี้เลย http://www.nontdesign.com/sakura-japan/
- เทศกาลฮินะมัตสุริ (Hina Matsuri) เทศกาลวันเด็กผู้หญิง จัดขึ้นทุกวันที่ 3 มีนาคมของทุกปี เพื่อภาวนาขอความสุขในอนาคตของเด็กผู้หญิง ตุ๊กตาฮินะ (Hina Ningyo) เป็นตัวแทนของสมาชิกราชวงศ์อิมพีเรียล ซึ่งมีการตกแต่งตุ๊กตาโดยแต่งกายแบบในพระราชสำนักและวางไว้บนหิ้งเป็นชั้น ๆ ในบ้านที่ยังมีลูกสาวตัวเล็ก ๆ อยู่
- เทศกาลคะซูกะ (Kasuga Matsuri) เป็นเทศกาลของ ศาลเจ้าคะซูกะ (Kasuga-taisha) ในเมือง นารา (Nara) มีการฟ้อนรำโบราณที่มีอายุเก่าแก่กว่า 1,000 ปี
- เดือนเมษายน
- ระบำมิยะโกะ หรือระบำซากุระที่เมือง เกียวโต (Kyoto) เป็นระบำญี่ปุ่นที่แสดงโดยนักฟ้อนรำที่เรียกว่า ไมโกะ (Maiko)
- เทศกาลทะคะยะมะ (Takayama Matsuri) เป็นเทศกาลของ ศาลเจ้าฮิเอะ (Hie Shrine) ในเมือง ทะคะยะมะ (Takayama) ชมชบวนรถแห่ศาลเจ้าอันตระการตา
- เทศกาลยะโยอิ (Yayoi Matsuri) ที่ ศาลเจ้าฟุตะระซัน (Futarasan Jinja) ในเมือง นิกโก (Nikko) ชมขบวนแห่ตกแต่งสวยงาม
- เดือนพฤษภาคม
- เทศกาลฮะคะตะ โดนทะคุ (Hakata Dontaku) ที่เมือง ฟุกุโอกะ (Fukuoka) มีขบวนแห่เทพเจ้าบนหลังม้าตามตำนานญี่ปุ่น
- เทศกาลแข่งว่าว (Hamamatsu Matsuri) ที่เมือง ฮะนะมัตสึ (Hamamatsu) เป็นสนามแข่งว่าวที่มีการแข่งขันว่าวขนาดใหญ่ที่สุด
- เทศกาลวันเด็กผู้ชาย (Kodomo No Hi) มีการประดับธงปลาคาร์พหลายสีตามจำนวนของลูกชายแต่ละบ้าน จัดขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี
- เทศกาลอะโออิ (Aoi Matsuri) ที่เมือง เกียวโต (Kyoto) มีขบวนแห่บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ พร้อมขบวนรถที่มีดอกไม้หลากหลายสี
- เทศกาลใหญ่ของศาลเจ้า Toshogu ที่เมือง นิกโก (Nikko) มีขบวนแห่นักรบกว่า 1,000 คน
- เทศกาล Sanja จัดขึ้นที่ วัดอาซากุสะ (Asakusa Temple) ในเมือง โตเกียว (Tokyo) มีการแห่ศาลเจ้าใหญ่ ๆ 3 ศาลเจ้าและศาลเจ้าย่อย ๆ อีกกว่าร้อยศาลเจ้า
ฤดูร้อน (มิถุนายน – สิงหาคม)
ฤดูนี้ทิวทัศน์ของประเทศญี่ปุ่นจะปกคลุมไปด้วยความเขียวขจีทั่วประเทศ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่นิยมไปเที่ยวตามเนินเขาและทุ่งต่าง ๆ ซึ่งฤดูนี้เป็นฤดูที่นิยมจัดเทศกาลท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของฤดูร้อน และความพิเศษของฤดูนี้คือ การชมดอกไม้ไฟบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน
เทศกาลในฤดูร้อน
- เดือนมิถุนายน
- เทศกาลซังโนะมัตสุริ (Sanno Matsuri) เป็น 1 ใน 3 เทศกาลที่มีชื่อเสียงที่สุดของกรุงโตเกียว เทศกาลนี้จัดขึ้นที่ ศาลเจ้าฮิเอะ (Hie Shrine) มีการแห่ศาลเจ้าผ่านถนนในย่าน อาซากุสะ (Asakusa)
- เทศกาลม้า หรือ ชะงุ–ชะงุ อุมะโก (Chagu-Chagu Umakko)ในเมือง โมริโอกะ (Morioka) มีขบวนแห่ม้าที่ประดับตกแต่งด้วยสีสันสวยงาม
- เดือนกรกฎาคม
- เทศกาลดวงดาวแบบโบราณ หรือ เทศกาลทานาบาตะ (Tanabata) จัดขึ้นปีละครั้งที่วัดและศาลเจ้าต่าง ๆ ทั่วญี่ปุ่น แต่ที่เมือง เซนได (Sendai) จะยิ่งใหญ่ที่สุด มีการประดับโคมกระดาษหลากสีสวยงาม ผู้คนจะเขียนความปรารถนาลงบนแผ่นกระดาษและอธิษฐาน จากนั้นนำไปแขวนตามกิ่งไผ่
- เทศกาลบงโอโดริ (Bon Dori) เป็นงานเทศกาลที่สำคัญมากของประเทศญี่ปุ่น ผู้คนจะมาเต้นรำตามจังหวะดนตรีดั้งเดิม ทุกคนสามารถร่วมวงเต้นรำได้อย่างอิสระ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวอย่างเรา ๆ ในเรื่องของเครื่องแต่งกาย เทศกาลนี้ไม่ได้มีเครื่องแต่งกายที่เฉพาะ แต่ผู้คนส่วนใหญ่จะสวมชุดยูกาตะ
- งานเทศกาลยามากาซะ ฮากาตะ กิออน (Hakata Gion Yamakasa Festival) ที่เมือง ฟุกุโอกะ (Fukuoka) โดยเทศกาลนี้จะมีผู้คนหลั่งไหลกันมาชมงานเทศกาลนี้หลายหมื่นคน โดยในการแข่งขันจะมี 7 ทีมจากเขตข้าง ๆ มาแข่งกันลากแท่นขนาดใหญ่ที่ตกแต่งอย่างสวยงามเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตรไปรอบ ๆ เมือง
- เทศกาลกิออนมัตสุริ (Gion Matsuri) เป็นเทศกาลที่ย้อนยุคกลับไปศตวรรษที่ 9 ที่ใหญ่ที่สุดใน เกียวโต (Kyoto) มีขบวนแห่ชุดแต่งกายโบราณผ่านถนนสายหลักหลายสาย
- เทศกาลเท็นจิน (Tenjin Matsuri) เป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเทศกาลที่ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังเป็นเทศกาลเรือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกด้วย จัดโดย ศาลเจ้าเท็นมังกู (Tenmangu-Shrine) ใน โอซาก้า (Osaka)
- เดือนสิงหาคม
- เทศกาลเนบุตะ (Nebuta Matsuri) เทศกาลฤดูร้อนประจำจังหวัด อาโอโมริ (Aomori) ที่จะทุกวันที่ 2-7 สิงหาคมของทุกปี เทศกาลนี้เป็นการแห่โคมไฟขนาดมหึมา ที่รายล้อมไปด้วยนักดนตรีและนักเต้น
- เทศกาลยามางาตะฮานะกาสะ (Yamagata Hanagasa Festival) ในเมือง ยามางาตะ (Yamakata) มีขบวนฟ้อนรำของชาวเมืองจำนวน 10,000 คน ทุกคนสวมชุดหมวกฟางติดดอกไม้เทียม ซึ่งเป็นชุดประจำเทศกาล
- เทศกาลเต้นรำอาวะโอโดริ (Awa Odori) ที่เมือง โทคุชิมะ (Tokushima) มีการร้องรำทั้งกลางวันและกลางคืน
- งานไดมอนจิ บอนไฟ (Daimonji Bonfire) เทศกาลส่งดวงวิญญาณผู้ล่วงลับแล้วโดยการเผาไฟบนเนินเขาที่เห็นได้จากเมือง เกียวโต (Kyoto)
ฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน – พฤศจิกายน)
ฤดูนี้เป็นฤดูที่มีอากาศเย็นสบาย ใบไม้ต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีแดงเหลืองส้ม ฤดูกาลนี้เหมาะสำหรับการออกไปเที่ยวและทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การอาบน้ำพุร้อนพร้อมกับการชมวิวทิวทัศน์ของใบไม้เปลี่ยนสีไปด้วย ธัญพืชต่าง ๆ ที่เริ่มปลูกใบฤดูใบไม้ผลิจะถูกเก็บเกี่ยวในฤดูกาลนี้ และหนึ่งในสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ร่วงนี้ก็คือ งานเทศกาลดอกเบญจมาศ
เทศกาลในฤดูใบไม้ร่วง
- เดือนกันยายน
- งานเทศกาลยาบุซะเมะ (Yabusame) ที่ ศาลเจ้าทซึรุงะโอะกะ ฮะจิมังกู (Tsurugaoka Hachimangu) ในเมือง คามาคุระ (Kamakura) เทศกาลนี้สร้างขึ้นบนความเชื่อที่ว่าเป็นการสร้างความรื่นเริงให้กับเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษาเมืองคามาคุระให้เจริญรุ่งเรืองนั่นเอง
- เดือนตุลาคม
- งานเทศกาลคันชิของเมืองนางาซากิ (Nagasaki Kunchi Festival) จัดขึ้นวันที่ 7 – 9 ตุลาคม เป็นงานเทศกาลของ ศาลเจ้าซุวะ (Suwa Shrine) ภายในงานมีระบำมังกรจีนแบบดั้งเดิม
- เทศกาลทาคายามา มัตสุริ (Takayama Matsuri) จัดขึ้นวันที่ 9 – 10 ตุลาคม เป็นเทศกาลประจำปีของ ศาลเจ้าฮาจิมัง (Hachiman Shrine) ภายในงานมีขบวนรถสีสันต่าง ๆ มากมาย
- เทศกาลนาโกยา (Nagoya) มีขบวนพาเหรดซามูไรตามถนนในเมือง
- เทศกาลดอกเบญจมาศ ที่ ศาลเจ้าเมจิ (Meiji Shrine) และ วัดอาซากุสะ (Asakusa Temple) ในเมือง โตเกียว (Tokyo)
- เทศกาลฤดูใบไม้ร่วง จัดขึ้นที่ ศาลเจ้านิกโก โทโชงู (Nikko Toshogu) ที่เมือง นิกโก (Nikko) มีขบวนพาเหรดของนักรบโบราณในชุดเสื้อเกราะ
- เทศกาลจิได มัสสึริ (Jidai Matsuri) เป็นเทศกาลย้อนยุคของ ศาลเจ้าเฮอัน (Heian) ถือเป็น 1 ใน 3 เทศกาลใหญ่ของ เกียวโต (Kyoto) เลยทีเดียว
- ประเพณีการเล่นไฟ Kuruma จัดขึ้นทุกวันที่ 22 ตุลาคม เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็น 1 ใน 3 เทศกาลของเมือง เกียวโต (Kyoto) ผู้ชายจะมาพร้อมกับคบเพลิง 500 อัน โดยจะเดินแบกเกี้ยวและใส่เพียงผ้าเตี่ยวสีขาว ส่วนโคมไฟจะนำมารวมกันจุดให้เป็นไฟดวงใหญ่เป็นกลุ่มควันร้อนลอยไปในอากาศ
- เดือนพฤศจิกายน
- เทศกาลคะระสึ กุนจิ (Karatsu Kunchi) จัดขึ้นที่เมือง ซากะ (Saga) ระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายนของทุกปี โดยมี ศาลเจ้าคาราซึ (Karatsu Shrine) ที่เป็นศาลเจ้าใหญ่ประจำเมืองซากะเป็นเจ้าภาพ
- เทศกาลฮะโกะเนะ ไดเมียว เกียวเรสึ (Hakone Daimyo Gyoretsu) จัดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายนของทุกปี เทศกาลนี้จะมีขบวนพาเหรดเป็นระยะทางยาวประมาณ 6 กิโลเมตร มีผู้ร่วมขบวนกว่า 170 คน โดยจะแต่งตัวย้อนยุคไปในสมัยของเอโดะ
- เทศกาลชิจิโงซัง (Shichi Go San) เทศกาล 7-5-3 จัดขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายนของทุกปี เพื่อฉลองการเติบโตของเด็ก ๆ โดยเด็กผู้ชายที่อายุ 3 และ 5 ขวบ (ส่วนเด็กผู้หญิงอายุ 3 และ 7 ขวบ) จะถูกพ่อแม่พามาเข้าร่วมเทศกาลนี้
- งานโทริโนะอิจิ (Torinoichi) เป็นการขอบคุณที่ปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัยตลอดปีที่ผ่านมา และขอพรให้โชคดีในปีที่กำลังจะมาถึง ผู้คนจะนิยมซื้อคุมาเดะ (คราดไม้ไผ่) ซึ่งเป็นเครื่องรางที่ส่งผลให้ธุรกิจมีความเจริญรุ่งเรือง
ฤดูหนาว (ธันวาคม – กุมภาพันธ์)
ในฤดูนี้จะมีการตกแต่งและประดับไฟตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างสวยงาม เป็นช่วงที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยชีวิตชีวาและมีสีสันมากที่สุดในรอบปี โดยเฉพาะในช่วงวันคริสมาสต์ วันสิ้นปี และวันขึ้นปีใหม่ เทศกาลต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในฤดูนี้มักจะเกี่ยวข้องกับหิมะและน้ำแข็ง นักท่องเที่ยวจะได้เพลิดเพลินกับหิมะและรูปแกะสลัก และที่ขาดไม่ได้คือเทศกาลปีใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญที่สุดสำหรับชาวญี่ปุ่นเลยทีเดียว
เทศกาลในฤดูหนาว
- เดือนธันวาคม
- เทศกาลคาสุกะ วากามิยะ (Kasuga Wakamiya On-Matsuri) จัดขึ้นที่ ศาลเจ้าคาสุกะ (Kasuga Shrine) จังหวัด นารา (Nara) เพื่อเป็นการสักการะบูชาเทพเจ้าวากามิยะที่ให้ผลผลิตทางการเกษตรอุดมสมบูรณ์ และไฮไลท์ของงานคือขบวนแห่เทพเจ้า ผู้ร่วมขบวนจะสวมใส่เครื่องแต่งกายแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมของแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ยุคเฮอันไปจนถึงปลายยุคเอโดะ รวมทั้งยังจะมีการแสดงศิลปะอื่นๆอีกมากมายจนถึงเวลาเกือบเที่ยงคืน
- งานฮะโงอิตะ (Hagoita-Ichi) เป็นงานประจำปีที่มีชื่อเสียงของ วัดอาซากุสะ (Asakusa Temple) ซึ่งจัดในช่วงใกล้สิ้นปี ร้านขายของจะมารวมตัวกันที่นี่เพื่อขายฮะโงอิตะ (ไม้พายที่ทำจากไม้)
- การไหว้พระที่วัดและศาลเจ้าในวันขึ้นปีใหม่ วัดและศาลเจ้าทุกแห่งจะมีผู้คนไปไหว้ขอพรให้ปลอดภัยและมีความสุข รวมทั้งขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองให้ปลอดภัยในปีที่ผ่านมากันอย่างเนืองแน่น
- เดือนมกราคม
- วันขึ้นปีใหม่ (New Year’s Day) เทศกาลนี้มีจนถึงวันที่ 3 มกราคม ร้านค้า โรงงาน ธุรกิจต่างๆ จะไม่เปิดให้บริหาร ครอบครัวต่างฉลองด้วยอาหารมื้อพิเศษ พร้อมแต่งชุดกิโมโนและพากันไปวัดหรือศาลเจ้า เพื่อไหว้พระขอพรให้สุขภาพดี และมีความสุขตลอดปี
- ฮัตสึ–อุริ และ ฟุคุบุคุโระ, ถุงโชคดีในวันปีใหม่ หนึ่งเทศกาลที่ผู้คนเฝ้ารอมากที่สุดในช่วงปีใหม่ ในวันนี้ห้างสรรพสินค้าต่างๆ จะจัดลดราคาสำหรับปีใหม่โดยมีส่วนลดต่าง ๆ มากมาย ห้างสรรพสินค้าบางแห่งจัดฮัตสึ-อุริในวันที่ 1 2 หรือ 3 มกราคม
- วันทำพิธีดับเพลิง (Dezomeshiki) ชมขบวนสาธิตการดับเพลิงใน โตเกียว (Tokyo) โดยมีตัวแทนพนักงานดับเพลิงแสดงโลดโผนบนยอดบันไดช่วยหนีไฟ
- เดือนกุมภาพันธ์
- เทศกาลหิมะซัปโปโร (Sapporo Snow Festival) งานนี้จัดขึ้นที่สวน โอโดริ (Odori) เมือง ฮอกไกโด (Hokkaido) เทศกาลนี้เป็นการประกวดประติมากรรมหิมะที่หลายประเทศทั่วโลกส่งตัวแทนมาเข้าร่วมการแข่งขัน และในช่วงเย็นจะมีประดับไฟและเล่นเทคนิค แสง สี เสียง กับประติมากรรมหิมะต่าง ๆ
- เทศกาลเซ็ทซึบุน (Setsubun) หรือเรียกว่า เทศกาลไล่ยักษ์ หรือ เทศกาลปาถั่ว ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี เทศกาลนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงถึงการสิ้นสุดของฤดูหนาว และกำลังจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ โดยในเทศกาลจะมีการโปรยถั่วอบที่บ้านและสำนักงานต่าง ๆ เพื่อขับไล่สิ่งที่ไม่ดี ผีร้าย และพวกยักษ์ที่เรียกว่า โอนิ (Oni) ที่ได้มีการสิงห์สถิตอยู่บริเวณนั้นออกไป
- เทศกาล Lantern แห่โคม ของ ศาลเจ้าคาสุกะ (Kasuga Taisha) ในจังหวัด นารา (Nara) ไฟจากโคมกว่า 3,000 อันถูกวางกระจายทั่วสวนหินในศาลเจ้าเป็นเวลา 3 คืน ได้แก่ 3 กุมภาพันธ์ และ 14-15 สิงหาคมของทุกปี
- เทศกาลโยโคเตะ คามาคูระ (Yokote Kamakura Festival) จัดขึ้นในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ของทุกปีในจังหวัด อากิตะ (Akita) ซึ่งกิจกรรมที่สำคัญของเทศกาลคือการสร้างกระท่อมน้ำแข็งที่เรียกว่า คามาคูระ (Kamakura) ในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเมือง
และนี่คือเทศกาลต่าง ๆ ที่น่าสนใจในแต่ละฤดูกาล ใครใคร่สะดวกไปซึมซับวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นแท้ ๆ ช่วงไหน และที่ไหนก็อย่าลืมวางแผนการท่องเที่ยวกันให้ดี ๆ นะคะ รับรองว่าคราวนี้ได้อะไรกลับมามากกว่าประสบการณ์จากการท่องเที่ยวแน่นอน 😉
แล้วไว้เจอกันใหม่บทความหน้า แล้วจะนำข้อมูลดี ๆ มาฝากกันอีกนะคะ
ขอบคุณค่ะ
ก้อย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO)