ไปขึ้นรถไฟที่ญี่ปุ่นกัน

เรื่องอยากเล่า [3] ขอเสนอตอน

ไปขึ้นรถไฟที่ญี่ปุ่นกัน

ขึ้นรถไฟที่ญี่ปุ่นกัน
ขอขอบคุณรูปจากการ์ตูนเรื่อง Detective Conan Movie 7 – Crossroad in the Ancient Capital

 

“…เกียวโตเนี่ยเป็นบ้านเกิดของพวกเราชาวญี่ปุ่นจริงๆเลยน้าาาา…” 

นี่คือคำพูดแรกของคุณหนูตระกูลซึซึกิตอนที่เดินทางมาถึงสถานีเกียวโตพร้อมกับพวกโมริ โคโกโร่ ขอขอบคุณฉากที่เห็นนี้ที่มาจากการ์ตูนเรื่อง Detective Conan Movie 7 – Crossroad in the Ancient Capital ซึ่งวันหยุดยาวในช่วงปีใหม่ที่ (เพิ่ง) ผ่านมาก้อยได้มีโอกาสกลับไปนั่งดูการ์ตูนเรื่องโคนันแบบมาราธอนอีกครั้งพอเห็นฉากนี้ก็นึกถึงตอนที่ตัวเองไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วขึ้นรถไฟเป็นครั้งแรก ตอนนั้นพอถึงจุดหมายปลายทางจำได้ว่าดีใจสุด ๆ ที่ตัวเองไม่หลงทาง หรือขึ้นรถไฟผิดสาย (แต่แอบไปหลงหาทางออกสถานีไม่เจอ T///T”) เพราะรถไฟในญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อเรื่องของสายรถไฟที่มีหลากหลาย แค่เห็นก็ปวดหัวแล้วน่อออ คนที่ยังไม่เคยขึ้นรถไฟ หรือยังไม่ชินกับเส้นทางอาจจะเกิดการสับสนขึ้นได้ (คนญี่ปุ่นบางคนยังงงเองเลย)

หลังจากนั้นก็ทำให้นึกถึงคำถามของลูกเพจใน Facebook ที่ถามเกี่ยวกับเรื่องรถไฟในญี่ปุ่นมากันหลายท่าน ว่ามีขั้นตอนและวิธีการในการขึ้นอย่างไร ถ้าไม่เคยขึ้นมาก่อนจะหลงทางไหม พี่นนท์เคยบอกเสมอว่า ขึ้นรถไฟที่ญี่ปุ่น แสนจะสะดวกและเป็นเรื่องสนุก แต่ก็ไม่สนุกเท่าขึ้นรถประจำทาง ลุ้นมาก ลงผิดป้ายตลอด แต่พี่เขาก็ชอบขึ้นนะ เอาไว้คราวหน้าจะมาเล่าให้ฟัง เอาเป็นว่าคราวนี้ก้อยขอนำวิธีการขึ้นรถไฟแบบง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากแบบที่พี่นนท์เคยสอนก้อยตอนไปญี่ปุ่นครั้งแรกมาบอกกัน รับรองว่าสามารถลดอัตราการงุนงงของทุก ๆ ท่านได้อย่างแน่นอน >_</

 

ขั้นที่หนึ่ง : เปิด Google Map ใส่ต้นทางและปลายทางลงไป

ก่อนอื่นเราต้องมีการวางแพลนสถานที่ท่องเที่ยวไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นการประหยัดเวลาในการเดินทาง และทำให้เราไม่เสียเวลาในการท่องเที่ยวตอนที่ไปอยู่ที่นู่น สำหรับใครที่กลัวหลงทางหรือกลัวตื่นเต้นหน้างาน ให้ทำการศึกษาเส้นทางการเดินทางให้เรียบร้อยไปจากเมืองไทย วิธีง่าย ๆ ก็คือทำการเปิด Google Map ใส่ต้นทางและจุดหมายปลายทางลงไป

 

Google Map
เปิด Google Map ใส่ต้นทางและปลายทางลงไป
ขอบคุณรูปจาก Google Map

 

  1. ใส่ Hedistar Hotel เป็นโรงแรมที่ นาริตะ (Narita) ไป ยานากะ กินซ่า (Yanaka Ginza) ให้เรานำชื่อสถานที่ต้นทางและสถานที่ปลายทางใส่ลงไปใน Google Map
  2. ใน กรอบสีเหลือง เลือกการเดินทางแบบรถไฟ คืออันที่ 2 ถ้าเลือกผิดเป็นเดินก็ 12 ชั่วโมงเลยค่ะ ?
  3. กรอบสีดำ Map จะแสดงเส้นทางต่าง ๆ ให้เราเลือก ให้เลือกตามความต้องการได้เลย อาจจะเลือกว่า เดินใกล้เดินไกล เวลาเดินทาง หรือราคาค่ารถ มีบอกหมด
  4. เลือกเส้นทางที่ต้องการ ดูเวลาที่รถไฟถึงสถานี ให้เราไปถึงก่อน ในรูปเป็นเวลา 08.36 น. ดูเวลารถไฟเพิ่มเติมว่ามาถึงเมื่อไหร่ สายอะไร กดตรง วงกลมสีแดง 
  5. กรอบสีเขียว บอกว่ารถผ่านสถานีไหนบ้าง ไว้เปิดดูระหว่างรถไฟวิ่ง เพื่อความชัวร์

เช็คสถานีอีกครั้งให้แน่ใจ ดูว่าสถานีรถไฟที่ต้นทางกับสถานที่ปลายทาง ว่าสถานีไหนอยู่ใกล้ที่สุด เช่น ถ้าเราเดินทางจากที่พัก ใกล้ที่สุดคือ Keisei – Narita Station   และสถานีปลายทางที่อยู่ใกล้กับยานากะ กินซ่าที่สุดคือ Nippori Station

 

ขึ้นรถไฟที่ญี่ปุ่นกัน
จากที่พักใกล้ที่สุดคือ Keisei – Narita Station  
ขอบคุณรูปจาก Google Map

 

ขึ้นรถไฟที่ญี่ปุ่นกัน
และสถานีปลายทางที่อยู่ใกล้กับยานากะ กินซ่าที่สุดคือ Nippori Station
ขอบคุณรูปจาก Google Map

 

ขั้นที่สอง : เช็ควันที่และเวลาให้ถี่ถ้วน

ใน Google Map เราสามารถเลือกวันและเวลาที่เราต้องการเดินทางเพื่อเช็คเวลาของรถไฟในแต่ละช่วงเวลาได้ หลังจากนั้นเราก็ทำการเลือกสายรถไฟที่เราต้องการจะไป มีให้เลือกหลายสาย แตกต่างกันที่ราคาและระยะเวลาในการเดินทาง บางเส้นทางก็เป็นการเดินทางแบบต่อเดียวจบไม่ต้องเปลี่ยนขบวนหรือสายรถไฟ

 

Google Map
เปิด Google Map ใส่ต้นทางและปลายทางลงไป
ขอบคุณรูปจาก Google Map

 

กลับมาที่รูปเดิมด้านบนค่ะ
ก้อยทดลองใส่วันเดินทางเป็นวันที่ 6 มกราคม เวลา 8.00 . จะเห็นว่ามีเส้นทางรถไฟขึ้นมาให้เลือกทั้งหมด 4 เส้น (กรอบสีดำ) ทาง มีให้เลือกทั้งแบบต่อเดียวถึงและแบบเปลี่ยนขบวน ราคา และระยะเวลาเดินทางมากน้อย ในกรณีนี้ถ้าก้อยเลือกเส้นทางรถไฟแบบแรกคือ จากสถานี Keisei – Narita ไปสถานี Nippori ในช่วงวลา 8.22 – 9.44 . ใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 1 ชั่วโมง 22 นาที โดยใช้เส้นทางรถไฟสาย Keisei Line สายสีน้ำเงิน ราคา 780 เยน โดยเป็นการเดินทางแบบต่อเดียว ไม่ต้องเปลี่ยนสายรถไฟ 

 

ขึ้นรถไฟที่ญี่ปุ่นกัน
ขอบคุณรูปจาก Google Map

 

ที่สำคัญอย่าลืมมองเวลาที่รถไฟออกจากสถานีด้วยนะคะ จากตัวอย่างเวลาที่รถไฟถึง (จริง ๆ ให้คิดว่าเป็นเวลาออกดีกว่านะคะ) สถานีต้นทางคือเวลา 8.36 . ซึ่ง Google Map เผื่อเวลาในการเดินจากโรงแรมมายังสถานีรถไฟไว้ให้ ซึ่งเวลา 8.22 . ไม่ใช่เวลาที่รถไฟออกจากสถานีนะคะ อย่าลืมมองกันดี ด้วยน้าาา ?

เหตุผลที่ต้องทำแบบนี้เพื่อเป็นการประหยัดเวลา และทำให้เรารู้ว่าเราจะต้องออกเดินทางเมื่อไหร่ ถ้าแพลนการเดินทางคลาดเคลื่อนหรือเกิดเหตุฉุกเฉินเราจะเปลี่ยนแปลงเวลาเพื่อไปขึ้นรถไฟได้ทัน ไม่เสียเวลานั่นเอง และสามารถ add ไปที่ Calender ได้อีกด้วย

 

ขั้นที่สาม : จำสายและสีของรถไฟที่จะขึ้นให้ขึ้นใจ

หลังจากที่ใส่พิกัดสถานที่ท่องเที่ยว วัน และเวลาเรียบร้อยแล้ว ทำการเลือกได้เลยว่าจะเลือกเส้นทางไหน จากนั้นให้จำชื่อและสีของสายรถไฟไว้ให้ดี เวลาที่เดินไปที่ชานชาลาจะได้ไม่สับสน เพราะรถไฟที่ญี่ปุ่นมีมากมายหลายสาย และมีมากมายหลายสี บางครั้งเราจะต้องเปลี่ยนสีและสายรถไฟ ถ้าเราสามารถจำได้แม่นยำจะช่วยให้เราขึ้นรถไฟแบบไม่หลงแน่นอน อย่างเช่นในกรณีนี้ สายรถไฟที่ต้องขึ้นคือ Keisei Line และเป็นสายสีน้ำเงิน

 

ขั้นที่สี่ : จำชื่อสถานีถัดไป ไม่ใช่สถานีปลายทาง

เวลาที่เราซื้อตั๋วรถไฟแล้วขึ้นไปที่ชานชาลา ให้เราดูว่าสถานีถัดไปจากสถานีต้นทางของสายรถไฟที่เราจะขึ้นชื่อว่าอะไร รถไฟที่ประเทศญี่ปุ่นจะแตกต่างจากรถไฟฟ้า (BTS) หรือรถไฟใต้ดิน (MRT) ที่บ้านเรา

 

ขึ้นรถไฟที่ญี่ปุ่นกัน
ในรูป สถานีถัดไปต่อจาก Keisei – Narita Station คือ Kozunomori Station เพราะฉะนั้นเวลาไปที่ชานชาลาให้มองหาชื่อสถานีนี้ไว้ให้ดี ๆ นะคะ
ขอบคุณรูปจาก Google Map

 

เขาจะเขียนป้ายบอกว่าเราต้องขึ้นรถไฟขบวนไหนโดยใช้ชื่อของ สถานีถัดไป ไม่ใช่ชื่อของสถานีปลายทางของสายนั้น เพราะฉะนั้นดูและจำชื่อสถานีให้ดีนะคะ ถ้าให้ดีควรจะแคปหน้าจอของเส้นทางรถไฟนั้นๆ เอาไว้ในมือถือ เพราะจะได้ไม่ต้องเสียเวลาหาเส้นทางรถไฟใหม่

 

แล้วถ้าเกิดว่าต้องเปลี่ยนสายรถไฟ จะทำยังไงดี?

 

ขึ้นรถไฟที่ญี่ปุ่นกัน
ยืนงง จะไปขึ้นชานชาลาไหนดี

 

จำสถานีที่จะต้องลงให้ดี เลยไปมีหลงแน่ ๆ แต่ไม่ยากเกินไป คล้าย ๆ สถานีสยามบ้านเรา ลงปั๊ป แล้วทำตามขั้นที่ 4 ดูป้ายเลยจ้าคือมองหาชานชาลาที่เราจะขึ้นจากชื่อสถานีถัดไป

ที่สำคัญเลยคือเรื่องของเวลา อย่างที่เรารู้กันว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศค่อนข้างเคร่งครัดเรื่องของเวลา เราไปขึ้นรถไฟให้ตรงเวลา เพราะรถไฟที่นี่ตรงเวลามาก อย่าไปช้า แล้วก็อย่าเลทนะคะ พยายามวางแผนการเดินทางให้ดี จะได้ไม่เสียเวลา ตอนนั้นที่ก้อยไปขึ้นรถไฟ พอถึงเวลาที่รถไฟต้องออกจากสถานีประตูรถไฟจะปิดทันทีเลยนะคะ ต่อให้มีคนวิ่งเพื่อพยายามจะมาขึ้นรถไฟให้ทัน แต่ก็หาได้แคร์ไม่ ประตูปิดฉึบใส่หน้าเลยจ้าาา

การขึ้นรถไฟที่ญี่ปุ่นจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ถ้าเราเข้าใจและมีวิธีการวางแผนที่ดี ขอให้ทุกคนสนุกกับการแพลนการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น และหวังว่าวิธีการขึ้นรถไฟที่ก้อยอธิบาย (แบบยาวเหยียด) นี้จะทำให้ทุก ๆ คนสนุกกับการไปเที่ยวญี่ปุ่นมากขึ้นนะคะ

 

ขึ้นรถไฟที่ญี่ปุ่นกัน
ขึ้นรถไฟที่ญี่ปุ่นกัน

 

บ๊ายบายจย้าาาาาาา ;D

สุดท้ายขอฝาก
Facebook: nontdesign
IG: nontdesign
Twitter: nontdesign

ขอบคุณค่ะ
ก้อย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *